วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระอวจนะ วัดศรีชุม สุโขทัย “A Cha Na” Wat SI CHUM





เขียนด้วยโปรแกรม illustrator CS4 



พระประธาน วัดศรีชุม พระอจนะ

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นาม “พระอจนะ” ประดิษฐานอยู่ในมณฑป วัดศรีชุม วัดสมัยสุโขทัยตอนต้น อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เชื่อกันว่า ชื่อ”ศรีชุม” มาจากคำพื้นเมืองล้านนาว่า “สะหลีชุม” สะหลี คือ ต้นโพธิ์ จึงหมายถึง ดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นั้นว่า ฤๅษีชุม

วัดศรีชุมสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก” สันนิษฐานกันว่า พระอจนะที่กล่าวถึงก็คือพระพุทธรูปกลางแจ้งเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่

นาม พระอจนะ มาจากคำบาลีว่า อจละ แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง หรือผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง องค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่เต็มวิหาร ศิลปะแบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร ประทับนั่งปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พุทธลักษณะงดงามมาก พระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์แฝงด้วยรอยยิ้มและเมตตา นอกจากพระพุทธประธาน โบราณสถานสำคัญของวัดศรีชุม คือพระมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น พระอวจนะ ใหญ่เต็มมณฑป มณฑปที่คับแคบแบบนี้เรียกว่า “ปฏิมาฆระ” สร้างตามคติความเชื่อสมัยสุโขทัยที่ไม่ได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา หากแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการจำลอง “พระคันธกุฎี” คือกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล

ที่มาของบทความ : ราม วัชรประดิษฐ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น